Month: พฤษภาคม 2021

น้ำในที่ที่เราต้องการ

ที่ทะเลสาบไบคาลซึ่งเป็นทะเสสาบที่ลึกที่สุดในโลก มีขนาดกว้างใหญ่และงดงามมาก มีความลึก 1.6 กม.และกว้าง 79 กม. ยาว 636 กม. จุน้ำจืดถึงหนึ่งในห้าของน้ำจืดบนผิวดินทั้งหมดในโลก แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทะเลสาบไบคาลอยู่ในไซบีเรียซึ่งเป็นเขตที่อยู่ห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งของรัสเซีย ในขณะที่น้ำเป็นที่ต้องการอย่างมากในหลายพื้นที่ในโลก ช่างน่าขันที่แหล่งน้ำขนาดใหญ่เช่นนี้กลับซ่อนอยู่ในสถานที่ซึ่งมีเพียงคนจำนวนไม่มากเข้าถึงได้

แม้ทะเลสาบไบคาลจะอยู่ห่างไกล แต่ยังมีแหล่งน้ำที่ให้ชีวิตอีกแหล่งซึ่งพร้อมให้ผู้ที่มีความต้องการมากที่สุดเข้าถึงได้ เมื่ออยู่ที่บ่อน้ำในสะมาเรียนั้นพระเยซูทรงสนทนากับหญิงคนหนึ่ง เพื่อค้นหาความหิวกระหายฝ่ายวิญญาณลึกๆของเธอ ทางออกสำหรับสิ่งที่ใจเธอต้องการนั้นก็คือพระเยซู

พระเยซูทรงหยิบยื่นสิ่งที่ดีกว่าให้ ซึ่งตรงข้ามกับน้ำที่เธอมาตักจากบ่อ “ทุกคน​ที่​ดื่ม​น้ำ​นี้​จะ​กระหาย​อีก​ แต่​ผู้​ที่​ดื่ม​น้ำ​ซึ่ง​เรา​จะ​ให้แก่​เขา​นั้น จะ​ไม่​กระหาย​อีก​เลย น้ำ​ซึ่ง​เรา​จะ​ให้​เขา​นั้น จะ​บังเกิด​เป็น​บ่อ​น้ำพุ​ใน​ตัว​เขา​พลุ่ง​ขึ้น​ถึง​ชีวิต​นิรันดร์” (ยน.4:13-14)

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่สัญญาว่าจะทำให้เราพึงพอใจแต่ไม่สามารถดับความกระหายในใจของเราได้ มีเพียงพระเยซูเท่านั้นที่ทรงทำให้จิตวิญญาณที่หิวกระหายของเราอิ่มเอมได้ และแหล่งน้ำของพระองค์มีพร้อมสำหรับทุกคนไม่ว่าในที่แห่งใด

ถึงฝั่งอย่างปลอดภัย

ในปาปัวนิวกินี ชนเผ่าคานดาสรอคอยการมาถึงของพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ที่จัดพิมพ์เป็นภาษาของพวกเขาด้วยความตื่นเต้น แต่การจะไปถึงหมู่บ้านได้ คนที่เอาพระคัมภีร์ไปต้องเดินทางด้วยเรือเล็กผ่านมหาสมุทร

อะไรทำให้พวกเขามีความกล้าที่จะเดินทางข้ามทะเลใหญ่ ความสามารถในการเดินเรือหรือ ก็ใช่ แต่พวกเขาก็รู้ด้วยว่าใครคือผู้ทรงสร้างทะเล พระองค์คือผู้เดียวที่ทรงนำเราแต่ละคนข้ามผ่านระลอกคลื่นและน่านน้ำลึกแห่งชีวิต

ตามที่ดาวิดเขียนไว้ว่า “ข้า​พระ​องค์​จะ​ไป​ไหน ให้​พ้น​พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​องค์​ได้” (สดด.139:7) “ถ้า​ข้า​พระ​องค์​ขึ้น​ไป​ยัง​สวรรค์ ​พระ​องค์​ทรง​สถิต​ที่​นั่นถ้า​ข้า​พระ​องค์​จะ​...อาศัย​อยู่​ที่​ส่วน​ของ​ทะเล​ไกล​โพ้น แม้​ถึง​ที่​นั่น ​พระ​หัตถ์​ของ​พระ​องค์​จะ​นำ​ข้า​พระ​องค์ และ​พระ​หัตถ์​ขวา​ของ​พระ​องค์​จะ​ยึด​ข้า​พระ​องค์​ไว้” (ข้อ 8-10)

ถ้อยคำเหล่านี้น่าจะแตะใจชนเผ่าคานดาสผู้อาศัยอยู่บนเกาะในบริเวณชายฝั่งเขตร้อนที่มีป่าฝนทึบและภูเขาหินซึ่งถูกขนานนามว่า “ดินแดนสุดท้ายที่โลกไม่รู้จัก” แต่กระนั้นผู้เชื่อที่นั่นและในทุกแห่งหนรู้ว่า ไม่มีที่ใดหรือปัญหาใดที่ไกลเกินไปสำหรับพระเจ้า สดุดี 139:12 กล่าวว่า “สำหรับ​พระ​องค์ แม้​ความ​มืด​ก็​ไม่​มืด กลางคืน​ก็​แจ้ง​อย่าง​กลางวัน ความ​มืด​เป็น​อย่าง​ความ​สว่าง”

ดังนั้น ท่ามกลางพายุในทะเลพระเจ้าของเราตรัสว่า “จง​สงบ​เงียบ​ซิ” และคลื่นและลมก็เชื่อฟังพระองค์ (มก.4:39) ด้วยเหตุนี้ อย่ากลัวน่านน้ำแห่งชีวิตที่ลึกหรือโหมกระหน่ำในวันนี้ พระเจ้าจะทรงนำเราถึงฝั่งอย่างปลอดภัย

เดิน อย่าวิ่ง

ผมเห็นเธอต้อนรับยามอรุณรุ่งในทุกวัน เธอเป็นนักเดินเร็วที่อยู่แถวบ้านเรา ขณะที่ผมขับรถไปส่งลูกๆก็จะเห็นเธอที่ไหล่ทาง โดยสวมหูฟังขนาดใหญ่และถุงเท้าสีสดสูงถึงเข่า เธอเดินแกว่งแขนสลับข้างกับขาโดยที่เท้าข้างหนึ่งติดพื้นเสมอ กีฬานี้ต่างจากการวิ่งหรือการวิ่งเหยาะๆ การเดินเร็วต้องใช้ความตั้งใจเพื่อจำกัดความต้องการออกวิ่งตามธรรมชาติของร่างกาย แม้จะดูเหมือนไม่มีอะไร แต่มันต้องใช้พลังงาน สมาธิและกำลังมากเท่าการวิ่งหรือการวิ่งเหยาะๆ แต่อยู่ภายใต้การควบคุม

กุญแจสำคัญคือ กำลังที่อยู่ภายใต้การควบคุม ความถ่อมใจตามพระคัมภีร์ ก็เป็นเช่นเดียวกับการเดินเร็วที่มักถูกมองว่าเป็นความอ่อนแอ ความจริงคือไม่ใช่เช่นนั้น ความถ่อมใจไม่ได้ลดทอนพละกำลังหรือความสามารถของเรา แต่คือการยอมให้ถูกควบคุมเหมือนกับที่แขนขาและเท้าถูกกำหนดหรือชี้นำโดยความคิดของนักเดินเร็วยามเช้า

ถ้อยคำของมีคาห์ที่ให้ “ดำเนิน​ชีวิต​ด้วย​ความ​ถ่อม​ใจ” นั้นเรียกให้เราควบคุมความต้องการที่จะนำหน้าพระเจ้า ท่านบอก “​ให้​กระทำ​ความ​ยุติธรรม​และ​รัก​สัจ​กรุณา” (6:8)และนั่นอาจทำให้เราปรารถนาอยากจะทำอะไรบางอย่างและทำอย่าง รวดเร็ว ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันในโลกนี้ช่างมากมายนัก แต่เราต้องให้พระเจ้าทรงควบคุมและทรงนำเรา เป้าหมายของเราคือการได้เห็นน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์สำเร็จในยามอรุณรุ่งแห่งแผ่นดินของพระองค์บนโลกนี้

เธอทำสุดกำลังของเธอ

เธอวางกล่องคัพเค้กลงบนสายพานที่เลื่อนไปหาพนักงานคิดเงิน ตามด้วยการ์ดวันเกิดและมันฝรั่งทอดกรอบหลายถุง ปอยผมที่หลุดจากหางม้าด้านหลังปรกใบหน้าอันเหนื่อยล้า ลูกน้อยร้องเรียกให้เธอสนใจ เมื่อพนักงานแจ้งยอดเงิน ผู้เป็นแม่ก็หน้าเสีย “โอ ฉันคิดว่าคงต้องเอาอะไรออก แต่ทั้งหมดนี่ฉันซื้อให้งานปาร์ตี้ลูก” เธอถอนหายใจมองหน้าลูกน้อยด้วยความเศร้า

ลูกค้าที่ยืนต่อแถวจากเธอเข้าใจความเจ็บปวดของผู้เป็นแม่ดี ฉากนี้คล้ายกับถ้อยคำของพระเยซูที่ตรัสกับมารีย์จากเบธานีว่า “ซึ่งผู้หญิง​นี้​ได้​กระทำ​ก็​เป็น​การ​สุดกำลัง​ของ​เขา” (มก.14:8) หลังจากชโลมพระองค์ด้วยน้ำมันหอมราคาแพงก่อนการสิ้นพระชนม์และการฝังพระศพ นางมารีย์ถูกสาวกของพระองค์เย้ยหยัน พระเยซูตำหนิสาวกด้วยการกล่าวชมสิ่งที่เธอทำ พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า “เธอทำทุกอย่างที่ทำได้” แต่ตรัสว่าเธอทำสิ่งที่เธอทำได้ ราคาของน้ำหอมไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่การที่มารีย์ลงทุนความรักด้วยการกระทำต่างหากที่สำคัญ ความสัมพันธ์กับพระเยซูส่งผลออกมาเป็นการกระทำ

ช่วงเวลานั้นเองก่อนที่ผู้เป็นแม่จะทันได้คัดค้าน ลูกค้าคนที่สองเสียบบัตรเครดิตของเธอในเครื่องคิดเงินและจ่ายค่าสินค้าให้ จำนวนเงินนั้นไม่ได้มากมายและเธอมีเงินเพิ่มพิเศษในเดือนนั้น แต่สำหรับผู้เป็นแม่สิ่งนี้มีค่ายิ่ง การกระทำด้วยความรักอันบริสุทธิ์นี้เกิดขึ้นในเวลาที่เธอต้องการ

เผชิญหน้าความมืด

กลางทศวรรษที่ 1960 คนสองคนเข้าร่วมในงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของความมืดที่มีต่อจิตใจมนุษย์ พวกเขาเข้าไปอยู่ในถ้ำคนละแห่งโดยนักวิจัยบันทึกพฤติกรรมการกินและนอนของพวกเขา คนหนึ่งอยู่ในความมืดสนิท 88 วัน อีกคน 126 วัน แต่ละคนเดาว่าตัวเองจะอยู่ในความมืดได้นานเท่าไรและเดาผิดไปหลายเดือน คนหนึ่งหลับไปโดยคิดว่างีบหลับเพียงสั้นๆ แต่ความจริงคือหลับไป 30 ชั่วโมง ความมืดช่างน่าสับสน

ประชากรของพระเจ้าพบว่าตัวเองตกอยู่ในความมืดของการถูกจับไปเป็นเชลย พวกเขารอคอยโดยไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ใช้ความมืดเป็นอุปมาเปรียบถึงความสับสนของพวกเขาและใช้กล่าวถึงการพิพากษาของพระเจ้า (อสย.8:22) ก่อนหน้านี้ชาวอียิปต์เผชิญความมืดในรูปของภัยพิบัติ (อพย.10:21-29) ในตอนนี้ชนอิสราเอลพบว่าตนเองตกอยู่ในความมืด

แต่ความสว่างจะมาถึง “ชน​ชาติ​ที่​ดำเนิน​ใน​ความ​มืดจะ​ได้​เห็น​ความ​สว่าง​ยิ่งใหญ่ บรรดา​ผู้​ที่​อาศัย​อยู่​ใน​แผ่นดิน​แห่ง​เงา​มัจจุราช สว่าง​จะ​ได้​ส่อง​มา​บน​เขา” (อสย.9:2) การกดขี่จะถูกทำลายไป ความสับสนจะสิ้นสุดลง เด็กผู้หนึ่งจะเสด็จมาเปลี่ยนทุกสิ่งและนำมาซึ่งวันใหม่ อันเป็นวันแห่งการให้อภัยและอิสรภาพ (ข้อ 6)

พระเยซูได้ทรงเสด็จมาแล้ว! และแม้ความมืดของโลกอาจทำให้สับสน แต่ขอให้เราได้สัมผัสถึงการปลอบประโลมซึ่งมาจากการให้อภัย อิสรภาพและความสว่างที่พบได้ในพระคริสต์

ติดตามด้วยความรัก

“ข้าหนีจากพระองค์ตลอดทั้งคืนและวัน” นี่คือท่อนแรกของบทกวีชื่อดัง “สุนัขล่าเนื้อจากสวรรค์” โดยฟรานซิส ทอมป์สันกวีชาวอังกฤษ ทอมป์สันบรรยายถึงการติดตามอย่างไม่ลดละของพระเยซูแม้เขาพยายามจะหลบซ่อนหรือวิ่งหนีจากพระเจ้า บทกวีจบลงโดยบอกว่า “ข้าคือคนที่พระองค์ตามหา!”

ความรักที่ติดตามอย่างไม่ลดละของพระเจ้าคือหัวใจหลักของพระธรรมโย-นาห์ ผู้เผยพระวจนะได้รับมอบหมายให้ไปประกาศแก่ชาวนีนะเวห์ (ศัตรูตัวฉกาจของอิสราเอล) ให้กลับใจ แต่โย​นาห์​ “ได้​ลุก​ขึ้น​หนี​ไป...จาก​พระ​พักตร์​พระ​เจ้า” (ยนา.1:3) ท่านซื้อตั๋วโดยสารเรือที่มุ่งไปคนละทิศกับนีนะเวห์ แต่ไม่นานเรือก็เจอพายุรุนแรง โยนาห์จึงถูกโยนออกจากเรือเพื่อช่วยชีวิตลูกเรือก่อนที่ท่านจะถูกปลามหึมากลืน (1:15-17)

ในบทกวีอันงดงามของท่าน โยนาห์บรรยายว่าแม้ท่านจะพยายามสุดความสามารถเพื่อหนีจากพระเจ้า แต่พระเจ้าทรงติดตามท่าน เมื่อสถานการณ์หนักหน่วงและท่านต้องการความช่วยเหลือ ท่านร้องทูลอธิษฐานต่อพระเจ้าและหันไปหาความรักของพระองค์ (2:2,8) พระเจ้าทรงตอบและประทานการช่วยกู้ไม่เพียงแต่โยนาห์เท่านั้น แต่กับศัตรูชาวอัสซีเรียของท่านด้วย (3:10)

ดังเช่นในบทกวีทั้งสองบท อาจมีบางเวลาในชีวิตที่เราพยายามหนีจากพระเจ้า กระนั้นพระเยซูทรงรักเราและทรงกระทำกิจเพื่อนำเรากลับสู่การคืนดีกับพระองค์ (1 ยน.1:9)

ความรู้สึกผิดกับการให้อภัย

ในหนังสือมนุษย์เหมือนกัน โดนัลด์ บราวน์นักมานุษยวิทยาแจกแจงพฤติกรรมกว่า 400 อย่างที่มนุษย์ทั่วโลกมีเหมือนกัน เช่น ของเล่น เรื่องตลก การเต้นรำ สุภาษิต ความกลัวงูและการใช้เชือกผูกสิ่งของ! เช่นเดียวกัน เขาเชื่อว่าทุกวัฒนธรรมมีแนวคิดในเรื่องสิ่งที่ถูกและผิด ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชมความมีน้ำใจ สัญญาต้องรักษา และความใจร้ายกับการฆาตกรรมเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เราทุกคนมีสามัญสำนึกไม่ว่าเราจะเป็นใครมาจากไหน

อัครทูตเปาโลกล่าวคล้ายกันเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว แม้พระเจ้าประทานบัญญัติสิบประการให้ชาวยิวเพื่อจะแยกแยะสิ่งถูกผิด เปาโลสังเกตเห็นว่าคนต่างชาติก็ยังทำสิ่งที่ถูกต้องได้เมื่อทำตามสามัญสำนึก แสดงว่าพระบัญญัติของพระเจ้าจารึกอยู่ในจิตใจของพวกเขา (รม.2:14-15) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ คนต่างชาติกบฏต่อสามัญสำนึกของตน (1:32) คนยิวทำผิดธรรมบัญญัติ (2:17-24) ทำให้ทั้งสองมีความผิดไม่ต่างกัน แต่โดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ พระเจ้าทรงเอาการลงโทษถึงตายออกไปจากการละเมิดทั้งสิ้นของเรา (3:23-26; 6:23)

เนื่องจากพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทุกคนให้มีจิตสำนึกผิดชอบชั่วดี เราแต่ละคนจึงรู้สึกผิดเมื่อทำสิ่งไม่ดีหรือเมื่อไม่ได้ทำสิ่งที่ดี เมื่อเราสารภาพความบาปเหล่านั้น พระเจ้าจะทรงลบล้างความผิดเหมือนกระดานที่ถูกลบจนสะอาด สิ่งเดียวที่เราต้องทำไม่ว่าเราจะเป็นใครหรือมาจากไหนคือทูลขอจากพระองค์

ดวงสว่าง

ฉันสามารถหลับตาและย้อนเวลากลับไปยังบ้านที่เคยเติบโตมา ฉันจำได้ว่าเคยนั่งดูดาวกับพ่อ เราผลัดกันส่องกล้องโทรทรรศน์ โดยพยายามจ้องไปที่จุดเรืองแสงซึ่งส่องเป็นประกายระยิบระยับ จุดเรืองแสงเล็กๆที่เกิดจากความร้อนและไฟเหล่านี้ช่างเจิดจ้าตัดกับท้องฟ้าที่มืดสนิท

คุณคิดว่าตัวเองเป็นดาวที่กำลังส่องสว่างอยู่หรือไม่ ฉันไม่ได้พูดถึงจุดสูงสุดแห่งความสำเร็จของมนุษย์ แต่เป็นการยืนหยัดต่อสู้กับความมืดที่นำความแตกแยกและความชั่วร้ายมา อัครทูตเปาโลบอกกับผู้เชื่อชาวฟีลิปปีว่า พระเจ้าจะส่องแสงเข้ามาในและผ่านชีวิตของพวกเขาเมื่อพวกเขา “ยึดมั่นในพระวาทะแห่งชีวิต” และหลีกเลี่ยงการบ่นว่าและการโต้เถียงกัน (ฟป.2:14-16)

ความเป็นหนึ่งเดียวกันของเรากับผู้เชื่อคนอื่นและความสัตย์ซื่อของเราต่อพระเจ้าทำให้เราแตกต่างจากโลก ปัญหาคือสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เราต้องต่อสู้ดิ้นรนตลอดเวลาเพื่อเอาชนะการทดลองและรักษาความสัมพันธ์ที่ติดสนิทกับพระเจ้า รวมทั้งต้องปล้ำสู้กับความเห็นแก่ตัวเพื่อจะมีความสามัคคีกับพี่น้องร่วมความเชื่อ

แต่ถึงกระนั้นเรายังมีหวัง พระวิญญาณของพระเจ้าซึ่งดำรงอยู่ในผู้เชื่อแต่ละคนจะประทานให้เรามีกำลังในการควบคุมตนเอง มีใจเมตตา และสัตย์ซื่อ (กท.5:22-23) เช่นเดียวกับที่ทรงเรียกเราให้ดำเนินชีวิตที่เกินขีดความสามารถตามธรรมชาติ โดยความช่วยเหลือที่เหนือธรรมชาติของพระเจ้าทำให้สิ่งนี้เป็นไปได้ (ฟป.2:13) หากผู้เชื่อทุกคนกลายเป็น “ดวงสว่าง” โดยอาศัยอำนาจของพระวิญญาณ ลองนึกดูสิว่า แสงสว่างของพระเจ้าจะขับไล่ความมืดรอบตัวเราออกไปได้อย่างไร!

พาเข้าไปข้างใน

เจ้าสุนัขแก่ของผมนั่งอยู่ข้างๆ และทอดสายตาอย่างเลื่อนลอยเหมือนกำลังใช้ความคิด สิ่งหนึ่งที่ผมรู้คือมันไม่ได้คิดถึงเรื่องความตาย เพราะสุนัขไม่ “เข้าใจ” พวกมันไม่คิดถึงอนาคตแต่เราคิด ไม่ว่าเราจะมีอายุ สุขภาพ หรือความมั่งคั่งมากแค่ไหน เราจะมีจุดหนึ่งที่คิดถึงความตาย นั่นเป็นเพราะเราต่างจากสัตว์ตรงที่เรามีความ “เข้าใจ” ตามที่สดุดี 49:20 กล่าวไว้ เรารู้ว่าทุกคนต้องตายและไม่มีใครหนีมันพ้น “ไม่มีคนใดไถ่พี่น้องของตนได้ หรือถวายค่าไถ่ตัวเขาแด่พระเจ้า” (ข้อ 7) ไม่มีใครมีเงินมากพอที่จะไถ่ตัวเองจากหลุมศพได้

แต่มีทางออกสำหรับจุดจบของความตาย ผู้เขียนสดุดียืนยันว่า “แต่แน่ทีเดียว พระเจ้าจะทรงไถ่ชีวิตข้าพเจ้าจากเงื้อมมือของแดนคนตาย เพราะพระองค์จะทรงรับข้าพเจ้าไว้” (ข้อ 15 แปลตามตัวอักษรได้ว่า “พระองค์จะพาข้าพเจ้าเข้าไปข้างใน”) โรเบิร์ต ฟรอสต์กล่าวว่า “บ้านคือสถานที่ที่เมื่อคุณต้องไป พวกเขาจะต้องพาคุณเข้าไป” พระเจ้าทรงไถ่เราให้พ้นจากความตายโดยทางพระบุตรของพระองค์ “ผู้ประทานพระองค์เองเป็นค่าไถ่สำหรับทุกคน” (1 ทธ.2:6) ดังนั้น พระเยซูจึงสัญญาว่า เมื่อเวลาของเรามาถึง พระองค์จะต้อนรับและพาเราเข้าไปในบ้าน (ยน.14:3)

เมื่อเวลาของผมมาถึง พระเยซูผู้ทรงจ่ายราคาชีวิตของผม จะต้อนรับผมสู่บ้านของพระบิดาด้วยอ้อมแขนที่เปิดกว้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา